thaiall logomy background
การรักษาพยาบาลโรค thairheumatology81
my town
โรคภัยไข้เจ็บ | การปฐมพยาบาล | อาหารที่ต้องพึงระวัง | ผู้สูงอายุ
?>
♥ โรคข้อรูมาตอยด์
เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเด่นคือ มีการเจริญงอกงามของเยื่อบุข้ออย่างมาก เยื่อบุข้อนี้จะลุกลามและทำลายกระดูกและข้อในที่สุด โรคนี้มิได้เป็นแต่เฉพาะข้อเท่านั้น ยังอาจมีอาการทางระบบอื่น ๆ อีก เช่น ตา ประสาท กล้ามเนื้อ เป็นต้น ข้ออักเสบเรื้อรังส่วนใหญ่เป็นโรครูมาตอยด์ใช่หรือไม่ ?

ถึงแม้โรครูมาตอยด์เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังที่พบได้บ่อยที่สุด แต่จะมีกลุ่มโรคข้ออักเสบเรื้อรังอื่น ๆ อีกมากที่เลียนแบบโรครูมาตอยด์ได้ ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจจากแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง เนื่องจากการรักษาจะแตกต่างกันออกไป สาเหตุของโรครูมาตอยด์คืออะไร ?
สาเหตุที่แท้จริงยังไม่เป็นที่ทราบแน่นอน แต่จากการศึกษาพบว่าโรคนี้มีส่วนเกี่ยวกับการติดเชื้อบางอย่าง และมีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม
ผู้ใดบ้างที่เป็นโรครูมาตอยด์ได้ ?
โรครูมาตอยด์สามารถเป็นได้กับทุกกลุ่มอายุตั้งแต่เด็กจนถึงวัยชรา แต่ส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยวัยกลางคน และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
เมื่อเป็นโรครูมาตอยด์จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?
เมื่อเป็นโรครูมาตอยด์ เยื่อบุข้อจะมีการเจริญงอกงามและมีการหนาตัว จากนั้นจะลุกลามทำลายกระดูกและข้อในที่สุด ในระยะแรกผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการอ่อนเพลีย ปวดตามข้อ มีอาการฝืดขัดข้อเป็นเวลานานในตอนเช้า เมื่อมีอาการชัดเจนข้อจะมีการบวม ร้อน และปวด โรคนี้สามารถเป็นได้กับทุกข้อของร่างกาย แต่ที่พบไดบ่อยคือข้อของนิ้วมือ ข้อมือ ข้อเข่า ข้อเท้า และข้อนิ้วเท้า อาการของข้ออักเสบจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ในบางรายอาจมีอาการรุนแรงแบบเฉียบพลันได้ บางรายอาจมีไข้ เบื่ออาหาร และน้ำหนักลดร่วมด้วยได้ ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการทางระบบตา ปอด และมีปุ่มขึ้นตามตัวได้
การวินิจฉัย
ในรายที่เป็นมานานและมีข้ออักเสบชัดเจนการวินิจฉัยจะทำได้ไม่ยาก แต่ในรายที่เป็นในระยะแรกการวินิจฉัยอาจยุ่งยาก แพทย์อาจจำเป็นต้องทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่าง ๆ เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและวินิจฉัยแยกโรคที่คล้ายโรครูมาตอยด์ออกไป
การตรวจหาสารรูมาตอยด์ในเลือดจะช่วยการวินิจฉัยหรือไม่ ?
สารรูมาตอยด์สามารถตรวจพบได้ในเลือดของผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ประมาณร้อยละ 70 - 80 แต่สารนี้สามารถตรวจพบได้ในโรคข้ออักเสบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โรครูมาตอยด์ ตรวจพบได้ในโรคติดเชื้อบางอย่าง หรือตรวจพบได้ในคนปกติ ดังนั้นการตรวจพบสารนี้จะไม่ได้บอกว่าผู้ป่วยเป็นโรครูมาตอยด์ แต่จะใช้ในการสนับสนุนการวินิจฉัยโรค อนึ่ง ในระยะแรก ๆ ของโรครูมาตอยด์การตรวจหาสารนี้อาจให้ผลลบได้
การรักษา
1. การใช้ยา ในปัจจุบันมียามากมายที่ใช้ในการควบคุมและรักษาโรครูมาตอยด์ให้ได้ผลดี ยาเหล่านี้ได้แก่ยาแอสไพรินและยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ ผู้ป่วยแต่ละรายจะตอบสนองต่อยาเหล่านี้แตกต่างกันออกไป ยาเหล่านี้อาจมีผลข้างเคียงทางด้านระบบทางเดินอาหารและระบบไตได้ ในรายที่เป็นรุนแรง มีอาการมากและข้อถูกทำลายมาก แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่ายาระดับที่ 2 ซึ่งได้แก่ ยาต้านมาลาเรีย ยาทองคำ ยาเมทโธเทรกเซท ยาซัลฟาซาลาซีน เป็นต้น ยาเหล่านี้ไม่มีฤทธิ์ในการระงับการเจ็บปวด แต่จะช่วยระงับการลุกลามของโรคได้ แต่เนื่องจากยาเหล่านี้มีผลข้างเคียงที่รุนแรงจึงควรใช้ในรายที่มีอาการรุนแรงและใช้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น อนึ่ง ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เป็นยาที่มีผู้นำเอามาใช้ในการรักษาโรครูมาตอยด์เป็นเวลานานแล้ว เนื่องจากยานี้มีคุณสมบัติในการระงับการอักเสบของข้อได้ แต่จากการศึกษาในระยะหลัง ๆ พบว่ายาชนิดนี้ไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงการดำเนินของโรคเลย แต่เมื่อใช้ยานี้ไปนาน ๆ ผู้ป่วยจะติดยาและไม่สามารถเลิกยาได้ พร้อมทั้งเกิดภาวะแทรกซ้อนจากยาชนิดนี้มากมาย เช่น อ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ตาเป็นต้อกระจก กล้ามเนื้ออ่อนแรง และกระดูกผุ เป็นต้น จึงไม่ควรเป็นอย่างยิ่งในการนำยานี้มาใช้รักษาผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ ยกเว้นในรายที่มีอาการรุนแรงและไม่สามารถรักษาด้วยยาชนิดอื่นแล้ว และควรดูแลควบคุมด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
2. การพักผ่อนและการบริหารร่างกาย มีส่วนสำคัญมากในการรักษาผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ การพักผ่อนจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น ไม่มีอาการอ่อนเพลีย แต่การพักที่นานเกินไปจะทำให้ข้อฝืดขัด ดังนั้นการพักผ่อนจะต้องสมดุลย์กับการบริหารร่างกาย การบริหารร่างกายอย่างสม่ำเสมอไม่ติดขัด และช่วยให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองได้ (ศึกษาเพิ่มเติมจากเอกสารชุดการบริหารร่างกาย)
3. การป้องกันไม่ให้ข้อถูกทำลายมากขึ้น เป็นสิ่งสำคัญ ผู้ป่วยควรเรียนรู้ และหลีกเลี่ยงการกระทำบางอย่างที่อาจส่งเสริมให้ข้อถูกทำลายเร็วขึ้น เช่น การนั่งพับเข่าในกรณีที่มีข้อเข่าอักเสบ หรือการบิดข้อมือในกรณีที่มีข้อมืออักเสบ การรู้จักใช้กายอุปกรณ์บางอย่าง เช่น ไม้เท้า เครื่องช่วยเดิน จะช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวคล่องขึ้นและหลีกเลี่ยงแรงที่กระทำต่อข้อได้
4. การผ่าตัด จะมีบทบาทในการรักษาโรครูมาตอยด์ในกรณีที่ข้อถูกทำลายไปมากแล้ว หรือกรณีที่เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เอ็นขาด เป็นต้น การผ่าตัดซ่อมแซมหรือเปลี่ยนข้อจะช่วยให้ข้อทำงานได้ดีขึ้น
ข้อมูลจาก : http://www.thairheumatology.org/people01.php?id=81
ข้อมูลนี้เป็นเพียงคำแนะนำเบื้องต้น
ควรพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและรักษาต่อไป
ก่อนหน้า : โรคข้อเสื่อม
tools
ความหมายของสุขภาพ
Health Meaning
สุขภาพ เป็นการกล่าวถึงลักษณะของการไม่เป็นโรค สุขภาพเป็นความสมบูรณ์ของคนใน 4 มิติ คือ 1) ร่างกาย 2) จิตใจ 3) สังคม และ 4) วิญญาณ (ปัญญา) หากสมบูรณ์อย่างสมดุลแล้ว ก็เรียกว่า สุขภาวะ ตามนิยามขององค์การอนามัยโลก
สุขภาพ หมายถึง สุขภาวะทางร่างกาย จิตใจ และสังคม รวมทั้งการปราศจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งทางกายและทางใจ สุขภาพที่ดีมีส่วนทำให้ชีวิตของเรามีความสุข
สุขภาพ หมายถึง ระดับของประสิทธิภาพเชิงการทำงาน หรือเชิงเมตาบอลิกของสิ่งมีชีวิต และตามนิยามขององค์การอนามัยโลก หมายถึง สภาวะอันสมบูรณ์ของภาวะทางกาย จิต จิตวิญญาณ และสังคมของบุคคล อันมิได้หมายถึง ความปราศจากโรคหรือความบกพร่องเพียงอย่างเดียว (wiki)
Thaiall Products :: HTML Validity :: CSS Validity :: CheckLink :: DeadLink :: PageSpeed :: Keyword Position :: Google :: Truehits
Thaiall.com