thaiall logomy background จริยธรรมสื่อ / จรรยาบรรณสื่อสารมวลชน
my town
ผู้รายงานข่าว

จรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ

จรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ คือ ข้อพึงปฏิบัติมี 23 ข้อ เช่น ต้องกระทำตนให้อยู่ในขอบเขตของความเหมาะสมมีกริยาดี ไม่สร้างข่าวขึ้นเอง ต้องเสนอข้อเท็จจริงทั้งหมดแก่ผู้รับสาร ไม่ก้าวก่ายสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่น ไม่บังคับบุคคลให้พูด ซื่อสัตย์ต่อบุคคลที่ต่อสู้เพื่อสังคม ซื่อสัตย์ต่อบุคคลที่นำมากล่าวถึงในคอลัมน์ รักษาไว้ซึ่งความลับของแหล่งข่าว ไม่ปิดบังอำพรางข่าวที่นำเสนอ ไม่ควรขายข่าว ขายคอลัมน์เพื่อเงิน หรือความพอใจส่วนตัว เป็นต้น
ธรรมะ | ครู | สื่อ | ผู้บริหาร | พยาบาล | สาธารณสุข | เทคนิคการแพทย์ | ทันตแพทย์ | กฎหมายไอที | ศีล 5 | ผลกระทบ PDPA | งานมอบหมาย
จรรยาบรรณสื่อสารมวลชนสากล # # จรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ จากหนังสือ The Complete Reporter
1. ต้องกระทำตนให้อยู่ในขอบเขตของความเหมาะสมมีกริยาดี (The bounds of decency)
2. ไม่สร้างข่าวขึ้นเอง (Do not attempt to make news)
3. ต้องเสนอข้อเท็จจริงทั้งหมดแก่ผู้รับสาร (The truth and the whole truth)
4. ไม่ก้าวก่ายสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่น (Do not to invade the private rights)
5. ไม่บังคับบุคคลให้พูด (Do not to force individuals to speak)
6. ซื่อสัตย์ต่อบุคคลที่ต่อสู้เพื่อสังคม (Play fair with a person against whom derogatory charges)
7. ซื่อสัตย์ต่อบุคคลที่นำมากล่าวถึงในคอลัมน์ (Play fair with persons quoted in its columns)
8. รักษาไว้ซึ่งความลับของแหล่งข่าว (Keep the confidence of its news sources)
9. ไม่ปิดบังอำพรางข่าวที่นำเสนอ (Do not suppress news)
10.ไม่ควรขายข่าว ขายคอลัมน์เพื่อเงิน หรือความพอใจส่วนตัว (Do not "sell" its news colums for money or courtesies)
11. ละเว้นจากการเข้าร่วมพรรคการเมือง (Refrain from allowing party politics)
12. ต้องบริการคนส่วนรวม มิใช่บริการคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (Serve the whole society, not just one "class")
13. ช่วยต่อสู้และปราบปรามอาชญากร (Fight and discourage crime)
14. ต้องเคารพ และช่วยผดุงกฏหมายบ้านเมือง (Must respect and aid the law and the courts)
15. สร้างความสัมพันธ์อันดีแก่ชุมชน (Seek to build its community)
16. ไม่ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างญาติและเพื่อนของผู้อื่น (Not injure the relatives and friends)
17. คำนึงว่าการหย่าร้าง การฆ่าตัวตายนั้น เป็นปัญหาสังคมสิ่งหนึ่งไม่ควรเสนอข่าวไปในเชิงไม่สุภาพ (To recognize divorce, suicide as an unfortunate social problem)
18. อย่ากล่าวโจมตีคู่แข่ง (Do not attack on competitive)
19. อย่าหัวเราะเยาะความวิกลจริต จิตทราม หรือพลาดโอกาสของบุคคล (Do not ridicule the insane or the feebleminded or misfortunes)
20. เคารพนับถือวัด โบสถ์ เชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์ของบุคคล (Respect churches, nationalities and races)
21. หน้ากีฬาควรเขียนถึงทุกๆ คน (Sports page is written for everybody)
22. แก้ไขข้อผิดพลาดที่พบในทันที (Be prompt in correcting errors)
23. จำไว้ว่าข่าวที่นำเสนอนั้น มีเยาวชนชายหญิงอ่านด้วย (Remember that the new is read by young boys and girls)
จริยธรรมสื่อ โดย จักร์กฤษ เพิ่มพูล ! ก่อนที่จะทำความเข้าใจในเรื่องจริยธรรมสื่อมวลชน จะต้องเข้าใจบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของสื่อมวลชนก่อน เพราะเมื่อพูดถึงสิทธิ เสรีภาพ แต่เพียงประการเดียว ก็อาจตีความได้ว่า สื่อมวลชนมีสิทธิ เสรีภาพ ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ในมาตรา 45 อย่างไร้ขอบเขต และอาจมีมากกว่าผู้ประกอบอาชีพอื่นๆในสังคม แต่แท้จริงแล้ว สื่อมวลชนไม่สามารถใช้พื้นที่สาธารณะในการนำเสนอข่าวสาร ข้อมูล หรือวิพากษ์วิจารณ์ ตามความต้องการ โดยไม่มีความรับผิดชอบและคำนึงถึงผลกระทบต่อบุคคลอื่นได้เลย
ความรับผิดชอบของนักข่าว
ในการปฏิบัติงานข่าวทุกแขนงย่อมมีโอกาสเกิดความผิดพลาดได้ทุกขั้นตอนของกระบวนการทำงาน ในการนี้ นักข่าวพึงต้องมีความรับผิดชอบควบคู่ไปกับสิทธิเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร ต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบที่สำคัญอย่างน้อย 2 ประการ คือ
1.ความรับผิดชอบทางกฎหมาย
ในฐานะที่นักข่าวเป็นนายประตูข่าวสาร หรือเป็นด่านแรกในการทำงานข่าว ควรจะต้องศึกษากฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เช่น พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ ประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาท โดยเฉพาะความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ พระราชบัญญัติความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พระราชบัญญัติว่าด้วยคดีเด็กและเยาวชน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยความผิดฐานละเมิดต่อชื่อเสียง เกียรติยศ และทางทำมาหาได้ ทั้งนี้เพราะความรับผิดชอบทางกฎหมายเป็นข้อจำกัด ในการใช้สิทธิ เสรีภาพประการหนึ่ง ภายใต้หลักประกันสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
สำหรับความผิดทางกฎหมายที่นักข่าว หรือบรรณาธิการจะต้องเผชิญอยู่เสมอ คือความผิดฐานหมิ่นประมาท ละเมิดต่อชื่อเสียง เกียรติยศ และทางทำมาหาได้ของบุคคลอื่น ละเมิดอำนาจศาล นักข่าวจึงต้องระมัดระวังในการใช้ถ้อยคำ การรายงานข่าวที่ต้องเคารพหลักการพูดความจริง
2.ความรับผิดชอบทางจริยธรรม
ความรับผิดชอบทางจริยธรรม (ethics) เป็นความรับผิดชอบที่ต้องใช้จิตสำนึก พิจารณาและใคร่ครวญถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่เป็นข่าว ญาติพี่น้อง และครอบครัว ในแง่ของการกำกับ ดูแลและควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน ให้อยู่ในกรอบของจริยธรรมนั้น สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จะเป็นองค์กรหลักในการควบคุมการทำงานของผู้ประกอบวิชาชีพ โดยมีข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพกำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้สมาชิกใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการทำงาน นอกจากนั้น องค์กรสื่อบางแห่ง เช่น กลุ่มเนชั่น โพสต์ ก็ได้ตราข้อกำหนด แนวทางประพฤติปฏิบัติในเรื่องจริยธรรมเป็นลายลักษณ์อักษรแสดงรายละเอียดของการประพฤติที่พึงกระทำหรืองดเว้น เพื่อให้พนักงานใช้เป็นหลักในการทำงานด้วย

คำว่า จริยธรรม มาจากรากของคำว่า “จริยศาสตร์” เป็นคำที่ พลตรีศาสตราจารย์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงบัญญัติขึ้นใช้เป็นครั้งแรก สำหรับคำว่า ethics และถือเป็นศัพท์บัญญัติในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แต่คนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยและใช้คำว่า จริยธรรรมมากกว่าจริยศาสตร์ อาจสรุปได้ว่า จริยธรรม หมายถึง ความเชื่อ ค่านิยม และหลักศีลธรรม ซึ่งแต่ละสังคมกำหนดขึ้น เพื่อใช้ในการตัดสินว่า สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ ทั้งนี้ หมายถึง แนวทางปฎิบัติของบุคคลในสาขาอาชีพต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชนที่สังคมเรียกร้องความรับผิดชอบในเชิงจริยธรรมสูง
ประเด็นปัญหาทางจริยธรรมที่มีการพูดถึงกันอยู่เสมอ ได้แก่ การรายงานข่าวที่มีผลกระทบต่อบุคคลอื่น ถึงแม้บางเหตุการณ์จะมีคุณค่าข่าวที่ควรนำเสนอ แต่ข่าวก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อบุคคลอื่นทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ ด้วยสไตล์การเขียน การเขียนเนื้อข่าวและความนำ การให้หัวข่าวหรือการใช้ภาพประกอบที่อาจสร้างความเจ็บปวดซ้ำๆให้แก่ผู้เคราะห์ร้ายที่เป็นข่าวได้ หลายครั้งที่สื่อมวลชนถูกวิพากษ์วิจารณ์ และมีเสียงเรียกร้องให้ใช้จิตสำนึกชั่งน้ำหนักระหว่างสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบุคคล นักข่าวจึงต้องใช้วิจารณญาณในการคัดเลือก และรายงานข่าวด้วย
ในหนังสือคู่มือจริยธรรม สำหรับทุกสื่อในเครือเนชั่นฯ Nation Way ผิดจากนี้ไม่ใช่เรา หมวด 2 ว่าด้วยจริยธรรมของสื่อในเครือเนชั่นฯ ข้อ 2.10 เขียนไว้ว่า ในการเสนอข่าวหรือภาพใด ๆ ต้องหลีกเลี่ยงการล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ตกเป็นข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องให้ความคุ้มครองอย่างเคร่งครัดต่อสิทธิมนุษยชนของเด็ก สตรี และผู้ด้อยโอกาส
ตัวอย่างเช่น นายตำรวจคนหนึ่ง นำผู้ต้องหาคดียาเสพติดมาแถลงข่าว โดยมีการเขียนข้อความตั้งวางไว้หน้าผู้ต้องหาว่า “อมนุษย์” ซึ่งแปลว่า ผู้ที่ไม่ใช่คน หมายถึงภูตผีปีศาจ การกระทำของตำรวจนายนั้นถือว่าเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องหา เช่นเดียวกับ หัวข่าวของหนังสือพิมพ์ เมื่อมีการจับกุมตัวผู้กระทำความผิดอาญา หนังสือพิมพ์ ก็ใช้หัวข่าวตัดสินความผิดของเขาทันที เช่น พาดหัว หรือบรรยายภาพว่า ไอ้โหด เดนนรก ทั้งที่ในทางกฎหมาย ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า เขาเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลว่า เขาเป็นผู้กระทำผิดจริง ฉะนั้น นักข่าวหรือบรรณาธิการ พึงหลีกเลี่ยงที่จะตกเป็นเครื่องมือในการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นนั้น
ในหนังสือคู่มือจริยธรรม หมวดเดียวกัน ข้อ 2.11 ต้องไม่เสนอภาพที่อุจาด ลามกอนาจาร น่าหวาดเสียว หรือที่อาจละเมิดศีลธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคม ในช่วงเริ่มต้นของ คม ชัด ลึก มีข้อตกลงร่วมกันประการหนึ่งว่า หนังสือพิมพ์หัวสีฉบับนี้ จะไม่มีภาพที่สยอง และสยิว
คำว่าไม่สยอง หมายถึง หนังสือพิมพ์จะไม่ตีพิมพ์ภาพคนตาย ซึ่งเคยเป็นขนบของหนังสือพิมพ์หัวสียุคก่อนนั้น ที่นิยมนำภาพศพที่แสดงถึงสภาพน่าอเน็จ อนาจ มาตีพิมพ์ไว้ที่หน้า 1 เพื่อจูงใจให้คนอ่านตัดสินใจซื้อหนังสือพิมพ์ ส่วนคำว่า ไม่สยิว หมายถึงหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ จะไม่มีภาพโป๊ อนาจาร หรือภาพที่ส่อไปในทางเพศ นี่ก็เป็นหลักสำคัญอีกข้อหนึ่งในเรื่องจริยธรรม ในการนำเสนอข่าว

วิธีการหาข่าว
ในการทำข่าว นักข่าวควรต้องคำนึงถึงวิธีการได้มาซึ่งข้อมูล ข่าวสารนั้น เช่น การบุกรุกเข้าไปในบ้านของแหล่งข่าว การดักฟังหรือแอบบันทึกเสียงการติดต่อ สนทนาของผู้อื่น การสะกดรอยติดตาม และแอบถ่ายด้วยอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีสูง การลอบถ่ายเอกสารข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล เป็นวิธีการที่ไม่เป็นธรรม ที่เข้าไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของบุคคลอื่น รวมทั้งการไม่แสดงตัวว่า เป็นนักข่าวขณะปฏิบัติหน้าที่
คู่มือจริยธรรมของสื่อในเครือเนชั่น หมวด 1 ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ข้อ 1.6 เขียนว่า “ต้องใช้วิธีที่สุภาพและสุจริตในการหาข้อมูล ข่าวสาร และภาพต่างๆ” ข้อ 1.8 เขียนว่า “ละเว้นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เว้นแต่กรณีที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นการกระทำไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ”

อคติส่วนตัวของนักข่าว
นักข่าวก็เป็นเช่นเดียวกับคนทั่วไป คือ อาจมีความเชื่อ หรือทัศนคตืในเรื่องต่างๆ เช่น แนวคิดทางการเมือง ศาสนา หรือมีความรู้สึกไม่พึงพอใจแหล่งข่าว ไม่ถูกชะตา หรืออารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ นอกเหนือเหตุผล ซึ่งในการทำข่าว นักข่าวจะต้องแยกแยะอคติส่วนตัวออกจากการรายงานข่าว

สิทธิส่วนบุคคล
สิทธิส่วนบุคคล (Right to Privacy) เป็นเรื่องที่คาบเกี่ยวระหว่างกฎหมายและจริยธรรม บ่อยครั้งที่นักข่าวจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า นำเสนอข่าวที่เป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคลต่างๆในสังคม โดยเฉพาะคนที่มีชื่อเสียง หรือบุคคลสาธารณะ (Public Figure) เช่น นักการเมือง ดารานักแสดง นักร้อง นักข่าวมักจะเฝ้าติดตามเสนอข่าว ทั้งที่เรื่องราวส่วนตัวของเขาไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเลย
เรื่องของสิทธิส่วนบุคคล นับว่าเป็นปัญหาใหญ่มากขึ้น เนื่องจากปัญหาการตีความว่า แค่ไหน เพียงใดที่นักข่าวจะนำเสนอได้ในฐานะบุคคลสาธารณะ เพราะความเป็นบุคคลสาธารณะจะทำให้ความเป็นส่วนตัว (Privacy) น้อยลง แต่โดยหลักจริยธรรม บุคคลเหล่านี้ก็ยังได้รับความคุ้มครองในการใช้ชีวิตส่วนตัวอยู่ดี ดังนั้นนักข่าวต้องแยกให้ออกระหว่างขอบเขตสิทธิส่วนบุคคลกับสิทธิในการรับรู้ของประชาชน โดยนักข่าวต้องยึดถือหลักการรายงานข่าวด้วยความรับผิดชอบทางจริยธรรม คือ มีความยุติธรรมต่อบุคคลที่ตกเป็นข่าว ข้อมูลและข้อเท็จจริงที่นำเสนอในข่าวต้องมีความถูกถ้วน
ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือการเสนอข่าวบันเทิง ผู้บริโภคข่าวสารมักเข้าใจว่า ข่าวบันเทิง คือข่าว เรื่องราวชีวิตครอบครัวของดารา ข่าวรักๆใคร่ๆ ซึ่งในความเป็นจริง นั่นเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลทั้งสิ้น นิยามของความเป็นข่าวบันเทิง ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องบทบาทการแสดง หรือการที่ดาราบางคน เป็นตัวอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิต มีความใส่ใจในการศึกษา หรือมีจิตสาธารณะในการช่วยสังคม กลับปรากฎในพื้นที่ข่าวบันเทิงน้อยมาก

จริยธรรมในการสื่อข่าวและการเขียนข่าว
ในการสื่อข่าวและการเขียนข่าว ภาระหน้าที่ของนักข่าวในฐานะผู้แจ้งข่าวสาร คือการนำข้อเท็จจริงสู่สาธารณชน (The duty of journalists is to serve the truth) ดังนั้น นักข่าวควรต้องมีจริยธรรมในการสื่อข่าว และเขียนข่าว ดังนี้
1. ความเที่ยงธรรมและความเป็นภววิสัยในการรายงานข่าว
ตามหลักการสื่อข่าวได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติข่าวที่ดีไว้ว่า จะต้องมีความเป็นภววิสัย ปราศจากอคติและความรู้สึกส่วนตัวของนักข่าว ข่าวที่นำเสนอจะต้องเสนอเฉพาะข้อเท็จจริง มีความเที่ยงธรรม สมดุล ในกรณีที่เกิดการขัดแย้งเกิดขึ้น ต้องให้โอกาสในการชี้แจง และแสดงข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่าย ไม่ว่านักข่าวจะเห็นพ้องกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้เพื่อความเป็นกระจกเงาสะท้อนภาพสังคมที่ชัดเจน เที่ยงตรง ไม่บิดเบี้ยว
2. ความเป็นส่วนบุคคลกับสิทธิในการรับรู้ของผู้บริโภคข่าวสาร
ปัญหาความเป็นส่วนตัวกับสิทธิในการรับรู้ของผู้รับสาร นักข่าวมักถูกท้วงติงจากสังคมว่า ปฏิบัติหน้าที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น หรืออาจจะเป็นความรู้สึกที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในลักษณะมองต่างมุมระหว่างสังคม กับนักข่าว ซึ่งนักข่าวควรมีวิจารณญาณในการไตร่ตรอง ชั่งน้ำหนักในความเหมาะควรขณะปฏิบัติงานอยู่เสมอว่า การเสนอข่าวและภาพผู้ถูกคุกคามทางเพศ หรือการระบุชื่อบุคคลที่มีความสัมพันธ์เป็นญาติมิตรทำให้สามารถเข้าใจได้ว่า ผู้ถูกคุกคามทางเพศเป็นใคร การนำเสนอภาพเปลือยของผู้ตาย หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งเสนอภาพเปลือยหญิงสาวที่ถูกข่มขืนในที่เกิดเหตุ ภาพเปลือยเดวิด คาราดีน ดาราฮอลลีวู๊ดที่ฆ่าตัวตายในตู้เก็บเสื้อผ้าโรงแรมปาร์คนายเลิศ อีกฉบับหนึ่งเสนอภาพเปลือยหญิงชาวต่างชาติถูกคลื่นสึนามิ พัดพาขึ้นไปค้างอยู่บนกิ่งต้นโกงกางในลักษณะที่อุจาดตา นี่ก็เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถึงแม้ว่าเธอทั้งสอง และเขาจะเสียชีวิตแล้ว
3. การใช้แหล่งข่าวปิด (Unidentified Sources)
บางครั้งนักข่าวอาจต้องใช้แหล่งข่าวปิด กรณีที่เป็นข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยคุณลักษณะ (Identification) ของแหล่งข่าวได้ เนื่องเพราะอาจส่งผลต่อความปลอดภัยของแหล่งข่าวและครอบครัว ซึ่งหากนักข่าวละเมิดสิทธิของเขาในการป้องกันตัวเองเท่ากับทำผิดหน้าที่ แต่ในขณะเดียวกัน การใช้แหล่งข่าวปิดมากจนเกินไปอาจถูกตั้งข้อสังเกตหรือวิพากษ์วิจารณ์จากคนอ่านได้ ว่าอาจนำไปสู่การบิดเบือน หรือทำให้การนำเสนอข่าวคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้ เพราะคนอ่านไม่แน่ใจว่า แหล่งข่าวนั้นมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่
ในอีกแง่มุมหนึ่ง แหล่งข่าวอาจมีเจตนาให้ข้อมูลหรือความเห็นที่บิดเบือนเพื่อประโยชน์ส่วนตัว หรือให้ร้ายแก่ผู้อื่น ในกรณีเช่นนี้ อาจมีผลถึงความน่าเชื่อถือได้ เพื่อไม่ให้สูญเสียความเชื่อถือ นักข่าวจึงไม่ควรเสนอข่าวที่เลื่อนลอย ปราศจากที่มา ข่าวลือหรือแผ่นปลิว ควรระบุชื่อบุคคลที่ให้สัมภาษณ์หรือให้ข้อมูลอย่างชัดเจน เว้นแต่จะมีเหตุอันควรปกปิดเพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของแหล่งข่าว โดยข่าวสารนั้นเป็นประโยชน์ และสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของสาธารณชนด้วย หรืออาจใช้วิธีอธิบายภูมิหลังของแหล่งข่าว เพื่อให้ผู้อ่าน ผู้ชมและผู้ฟังทราบความสัมพันธ์ หรือบทบาท ทัศนคติ แนวความคิดของแหล่งข่าว ต่อเหตุการณ์หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง
คู่มือจริยธรรมของสื่อในเครือเนชั่น หมวด 2 ข้อ 2.8 เขียนว่า “ต้องไม่เสนอข่าวอย่างเลื่อนลอยปราศจากแหล่งที่มาที่ชัดเจน ข่าวลือหรือข่าวจากแผ่นปลิว พึงระบุชื่อบุคคลที่ให้สัมภาษณ์ หรือบุคคลที่ให้ข้อมูลอย่างเปิดเผย เว้นแต่จะมีเหตุอันควรปกปิด เพื่อสวัสดิภาพ และความปลอดภัยของแหล่งข่าว และต้องเป็นประโยชน์ต่อสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของสาธารณชน” ส่วนข้อ 2.9 เขียนว่า “ต้องปกปิดชื่อและฐานะของบุคคลที่ให้ข่าวไว้เป็นความลับ หากได้ให้คำมั่นแก่แหล่งข่าวนั้นไว้ เช่นเดียวกับต้องปกปิดชื่อจริงของ ผู้ใช้ “นามปากกา” หรือ “นามแฝง” ในการเขียนหรือรายงานด้วย”
การเปิดเผยชื่อและฐานะของบุคคลที่ให้ข่าว ในบางกรณี อาจมีผลถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเขาได้ เช่น เขาเป็นพยานสำคัญในคดี การเปิดเผยชื่อ อาจทำให้จำเลยหรือฝ่ายตรงข้ามถูกปองร้ายได้ หรือในบางกรณี การปกปิดชื่อจะทำให้เขาไม่ต้องเดือดร้อน กรณีที่ข้อมูล คำให้สัมภาษณ์จะเป็นผลต่ออาชีพการงานของเขา
4. การรับของขวัญจากแหล่งข่าว
แม้ว่าการรับของขวัญจากแหล่งข่าว จะเป็นสิ่งที่นักข่าวส่วนใหญ่เห็นว่า เป็นการกระทำที่ผิดหลักจริยธรรม แต่ก็มีข้อถกเถียงกันว่า ของขวัญมีมูลค่าเท่าใดควรปฏิเสธ องค์กรข่าวบางแห่ง เช่น กลุ่มเนชั่น เขียนชัดเจนในประมวลจริยธรรมว่า ปฏิทิน ดินสอ พวงกุญแจ เป็นของขวัญที่มีค่าทางเงินเล็กน้อย สามารถรับได้ เพราะการปฏิเสธอาจทำให้ผู้ให้รู้สึกกระอักกระอ่วนใจ แต่ถ้าเป็นของขวัญที่มีราคาสูง ควรส่งคืนทันที พร้อมอธิบายถึงหลักปฏิบัติและนโยบายของบริษัทอย่างสุภาพ อย่างไรก็ตาม นักข่าวต้องใช้วิจารณญาณ และสามัญสำนึกของการเป็นสื่อมวลชนที่ต้องทำหน้าที่เพื่อสังคมมากกว่าหวังประโยชน์ส่วนตัว
คู่มือจริยธรรม ของสื่อในเครือเนชั่น หมวดที่ 6 ว่าด้วยสิทธิพิเศษและผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) ข้อ 6.3 การรับของขวัญที่มีมูลค่า เขียนไว้ว่า ผู้สื่อข่าวไม่ควรรับของขวัญที่มีมูลค่าสูง หรือเรียกร้องการยกเว้นค่าที่พัก หรือขอราคาพิเศษในการซื้อสินค้า หรือการใช้บริการ หรือร้องขอสิทธิพิเศษอื่นใดที่ประชาชนทั่วไปไม่ได้รับ
อย่างไรก็ดีหากเป็นของชำร่วยที่แจกตามงานแถลงข่าวที่มูลค่าไม่สูง เช่น พวงกุญแจ ที่ใส่ดินสอ ปฏิทิน และอื่นๆ อาจจะรับไว้ได้ แต่ต้องใช้วิจารณญาณและสามัญสำนึกของการเป็นสื่อมวลชน ที่ต้องทำหน้าที่เพื่อสังคมมากกว่าหวังประโยชน์ส่วนตน
5. การไม่แสดงตัวว่าเป็นนักข่าวขณะปฏิบัติหน้าที่ หรือแสดงตัวเป็นนักข่าวเพื่อใช้อภิสิทธิ์ หลีกเลี่ยงความผิด
แม้ว่าการไม่แสดงตัวว่าเป็นนักข่าว ขณะกำลังทำข่าวจะเป็นข้อยกเว้น ในกรณีที่จะต้องมีการรวบรวมข้อมูล ข่าวสารในการทำข่าวเชิงสืบสอบ สอบสวน เนื่องจากการเปิดเผยตัวต่อแหล่งข่าวอาจทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือ หรืออาจเกิดอันตรายได้ แต่ตามหลักจริยธรรมในการทำข่าวแล้วไม่ว่านักข่าวจะกำลังทำข่าวลักษณะใดก็ตาม นักข่าวต้องแนะนำตัวเองและแจ้งถึงวัตถุประสงค์ ของการสัมภาษณ์ให้แหล่งข่าวทราบ ไม่ควรทำให้แหล่งข่าวประหลาดใจว่า ทำไมคำพูดของเขาจึงไปปรากฏเป็นข่าวได้
ในอีกกรณีหนึ่ง การแสดงตัวเป็นนักข่าว เพื่อใช้อภิสิทธิ์ในการได้รับบริการสาธารณะก่อนบุคคลอื่นๆ หรือการใช้ความเป็นนักข่าวอวดอ้างหรืออาศัยตำแหน่งหน้าที่ เพื่อเรียกร้องสิทธิหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ไม่ชอบธรรม ก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักจริยธรรมด้วย
6. การขัดกันในด้านผลประโยชน์ สิทธิพิเศษและผลประโยชน์ทับซ้อน
ปัญหาการทำข่าวโดยมีการแอบแฝงในเรื่องผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือเรียกว่า ผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) มักจะถูกท้วงติงจากสังคมเรื่องความเป็นกลางในการนำเสนอข่าวของนักข่าวอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการรับเชิญไปทำข่าวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ตามคำเชิญของแหล่งข่าว การได้ข้อเสนอเป็นหุ้นราคาพาร์หรือหุ้นราคาถูกเป็นค่าตอบแทน การเขียนคำชมสินค้าหรือบริการ หรือกรณีที่นักข่าวมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบุคคลในแวดวงต่างๆ เช่น การเมือง เศรษฐกิจ โดยการเป็นสมาชิก กรรมการ หรือผู้ถือหุ้น
แนวทางในการปฏิบัติของนักข่าวในเรื่องนี้ คือ ในการรายงานข่าวหรือบทความอันสืบเนื่องจากการที่ได้รับเชิญจากแหล่งข่าว ในการรายงานข่าวควรมีการระบุให้ชัดเจนไว้ท้ายบทความ หรือรายงานชิ้นนั้นว่า ข้อมูลมาจากที่ใด และใครเป็นผู้จัดการในการเดินทางครั้งนั้น หรือกรณีที่ได้รับมอบหมายให้ไปทำข่าวที่นักข่าวมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องด้วย บรรณาธิการอาจเปลี่ยนให้นักข่าวคนอื่นไปทำข่าวแทน
7. ความสงสาร หรือเห็นใจในการนำเสนอข่าว
ปัญหาอีกประการหนึ่งที่กระทบต่อจริยธรรมในการสื่อข่าวและเขียนข่าว คือ ความอึดอัดใจของนักข่าวกับแหล่งข่าวที่สนิทสนมหรือใกล้ชิด และนักข่าวถูกขอร้องให้ปกปิดหรือไม่ให้ระบุชื่อแหล่งข่าว ญาติมิตร หรือเพื่อนพ้องที่ตกเป็นข่าวเนื่องจากตายโดยผิดธรรมชาติ หรือมีการกระทำที่น่าละอายในการเสนอข่าว หรือขอให้ปิดข่าว เพราะกลัวว่าจะทำให้ตนเองเสื่อมเสียชื่อเสียงหรืออับอาย โดยนักข่าวเองก็รู้สึกอึดอัด และเกิดความขัดแย้งต่อภาระหน้าที่ของตน ขณะเดียวกันก็กลัวว่าหากไม่กระทำตามที่แหล่งข่าวขอร้อง ต่อไปอาจจะไม่ได้รับความร่วมมือในครั้งต่อไปอีก แนวทางแก้ไขคือ นักข่าวควรปรึกษากับบรรณาธิการ เพื่อให้นักข่าวคนอื่นทำข่าวนั้นแทน
8. การนำเสนอข้อมูลที่กระทบกระเทือนความมั่นคงของชาติ เศรษฐกิจ
พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร พ.ศ.2540 เปิดโอกาสให้สาธารณชนเข้าตรวจสอบเอกสารราชการได้ แต่ข้อมูลความลับของราชการ หากเปิดเผยอาจมีผลต่อความมั่นคงของชาติได้ หรือการรู้ข้อมูลการลดค่าเงินบาท และนำไปเผยแพร่ก่อนประกาศกระทรวงการคลัง ทำให้มีการใช้ข้อมูลภายในไปเป็นประโยชน์ในการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน
9. การเสนอข่าวที่พาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์
สถาบันกษัตริย์สำหรับประเทศไทยเป็นสถาบันสูงสุดที่ผู้คนให้การเคารพเทิดทูน การเสนอข่าวสารเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นเรื่องที่อ่อนไหวอย่างยิ่ง และส่งผลกระทบต่อจิตใจของคนในวงกว้าง การเสนอข่าวเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ไม่ระมัดระวัง ไม่เพียงมีผลให้ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายเท่านั้น หากยังนำมาซึ่งความแตกแยกของคนในชาติด้วย
ในสถานการณ์ความขัดแย้งของคนในสังคมปัจจุบัน มักมีการนำเรื่องสถาบัน มาเป็นเครื่องมือโจมตีกันเสมอ สื่อจึงพึงไม่ประมาท และใคร่ครวญก่อนเขียนว่าจะกลายเป็นสื่อในการขยายความขัดแย้ง หรือต้องรับผิดในข้อหาหมิ่นสถาบันหรือไม่
จริยธรรมในการสื่อข่าวและเขียนข่าวเป็นเรื่องที่นักข่าวต้องใช้วิจารณญาณและสำนึกของตนเอง ชั่งน้ำหนักระหว่างความเหมาะควร กับสิทธิเสรีภาพที่ได้รับ ด้วยเหตุว่า การกระทำผิดทางจริยธรรมจะไม่มีการกำหนดบทลงโทษไว้อย่างชัดเจน แต่นักข่าวที่ไม่มีจริยธรรมมักจะถูกตำหนิจากสาธารณชน และผู้ร่วมวิชาชีพ
ท็อปนิวส์' กราบขออภัย 'พระมหาไพรวัลย์' เผยเหตุผล รายงานข่าวคลาดเคลื่อน⁣ ไทยรัฐออนไลน์ : กราบขออภัย รายงานข่าวคลาดเคลื่อน
ท็อปนิวส์ กราบขออภัย 'พระมหาไพรวัลย์' เผยเหตุผล รายงานข่าวคลาดเคลื่อน⁣ ⁣ตามข่าวเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน : เพจเฟซบุ๊ก "ไพรวัลย์ วรรณบุตร" โพสต์ภาพหนังสือจากกองบรรณาธิการข่าวออนไลน์ ท็อปนิวส์ เรื่อง กราบขออภัย "พระมหาไพรวัลย์" จากการรายงานข่าวคลาดเคลื่อน⁣ ⁣จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ประจำกองบรรณาธิการข่าวออนไลน์ ท็อปนิวส์ ทีมข่าวเด่น ได้นำเสนอข่าวหัวข้อเรื่อง "รวยขนาดนี้ใช้ยังไงหมด!! พระมหาไพรวัลย์ บวช 18 ปี อู้ฟู่หลายร้อยล้าน!! ด้านพระมหาสมปองเตรียมมอบเวสป้าเป็นของขวัญวันสึก" เผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก TOPNEWS เมื่อวันที่ 29 พ.ย.64 เวลา 17.45 น.⁣ ⁣ทั้งนี้ กองบรรณาธิการข่าวออนไลน์ ได้กราบขออภัยพระมหาไพรวัลย์ และจะใช้ความระมัดระวังในการนำเสนอข่าวสารให้มากกว่านี้ พร้อมกับทิ้งท้ายว่า ยังคงยืนยันยึดมั่นในมาตรฐานจริยธรรมในการดำเนินข่าวต่อไป⁣ ⁣นอกจากนี้ พระมหาไพรวัลย์ ยังเขียนแคปชั่นเอาไว้ว่า "ถ้าไม่เป็นการรบกวนมากไป ช่วยเกลียดอาตมาให้น้อยลงกว่านี้อีกสักนิดเถอะนะ นี่คือสิ่งเดียวที่อาตมาอยากได้พร้อมๆ กับคำขออภัยในครั้งนี้"⁣
พระมหาไพรวัลย์เตือน ถ้าไม่ขอโทษ จะฟ้อง
สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว : เมื่อพระมหาไพรวัลย์เตือนสื่อ
เมื่อพระมหาไพรวัลย์ เตือนสื่อ …
หลังอาตมาสึก ทนายท่านไหนอยากได้เงินไว้เลี้ยงชีพ อาตมาจะมอบอำนาจให้นะ อาตมาจะฟ้อง เงินที่ได้จากการฟ้องจากสื่อขยะ อาตมาจะไม่เอาสักบาท อาตมาจะมอบให้ทนายท่านนั้น
จะชอบจะชังอาตมาไม่ว่า แต่อย่าทำร้ายกันด้วยความเท็จที่ไม่จริงเลย อย่าเป็นเหยื่อของความเกลียดชัง อย่าเป็นเหยื่อของความอคติ อย่าทำร้ายใครเพียงเพราะเขาเห็นตรงกันข้ามกับเรา อาตมาจะรอการขอโทษอย่างเป็นทางการนะ แล้วอาตมาจะยุติการดำเนินคดี
การประชาสัมพันธ์ คืออะไร
ารประชาสัมพันธ์ (Public Relations) คือ การติดต่อสื่อสารจากองค์การไปสู่สาธารณชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรับฟังความคิดเห็นและประชามติจากสาธารณชนที่มีต่อองค์การ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อถือ ภาพลักษณ์ ความรู้ และแก้ไขข้อผิดพลาดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือ Public Relations คือ การประชาสัมพันธ์ หรือการสื่อสารไปยังลูกค้า โดยจุดประสงค์หลัก คือ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า สร้างความเข้าใจ โน้มน้าวใจ สร้างความเชื่อถือให้กับแบรนด์ และที่สำคัญที่สุดคือการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์
greedisgoods.com
เอกสารอ้างอิง [1] เมื่อสื่อตรวจสอบสื่อ "จริยธรรม" สำคัญกว่า "เพื่อนฝูง" "เจ้านาย" โดย จักร์กฤษ เพิ่มพูล
[2] แนวคิดเชิงจริยธรรมของสื่อมวลชน
Thaiall.com