# 32 อีเลินนิ่งสำหรับผู้มีทักษะ
8 พฤษภาคม - 14 พฤษภาคม 2549
อีเลินนิ่ง (e-Learning) หรือการเรียนรู้แบบออนไลน์ คือ ระบบการจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่เปิดให้ผู้เรียนสามารถเข้าศึกษา หรือเรียนรู้ ได้จากทุกที่ทุกเวลา โดยไม่จำเป็นต้องเข้าชั้นเรียนในโรงเรียนตามตารางแบบเดิม เปิดโอกาสให้กับผู้ที่มีความพร้อมด้านเวลา ความใฝ่รู้ และมีวินัยในตนเอง แต่ความคิดเห็นของนักวิชาการกลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการนำอีเลินนิ่งมาใช้ทดแทนการเรียนแบบปกติ เพราะเชื่อว่าการมีปฎิสัมพันธ์ทางตรงระหว่างครู และนักเรียน มีความจำเป็นต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ที่ขาดไม่ได้ เพื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิผล
อีเลินนิ่งมีประโยชน์มากสำหรับนักเรียนในปัจจุบัน เพราะการนำเสนอสื่อประกอบการสอนอย่างเหมาะสม จะทำให้การเรียนรู้ของนักเรียนมีประสิทธิผล แต่อาจไม่ประสบความสำเร็จถ้านักเรียนไม่ให้เวลากับการอ่าน ขาดความสามารถในการควบคุมตัวเอง ขาดวินัยในการเรียน ขาดการร่วมกิจกรรมในกลุ่ม หรือค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมน้อยเกินไป ก็อาจไม่ได้ประโยชน์จากระบบอีเลินนิ่งเต็มรูปแบบเท่าที่ควร
ข้อมูลจากเว็บไซต์ thaicyberu.go.th ชี้ให้เห็นว่านักเรียนที่ต้องการศึกษาหาความรู้ผ่านระบบอีเลินนิ่งควรมีทักษะดังต่อไปนี้ "ทักษะการวางแผนและควบคุมเวลาในการทำกิจกรรมการเรียน การจัดระบบ ทักษะในการสื่อสาร ทักษะในการทำงานกลุ่มย่อย ทักษะในการค้นคว้าข้อมูล ทักษะในการคิดไตร่ตรอง คิดวิเคราะห์ โดยจะต้องเพิ่มเติมทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทักษะในการพิมพ์ดีดภาษาไทย-อังกฤษ และทักษะการสื่อสารโดยใช้ข้อความแทนวาจา"
ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องประชาชนให้ความสำคัญกับการอ่านน้อย ทำให้หลายองค์กรเริ่มให้การสนับสนุนโครงการส่งเสริมการอ่าน หรือคำขวัญปีล่าสุดก็สนับสนุนให้เยาวชนให้ความสำคัญกับการอ่านมากขึ้น ทักษะด้านการอ่านของผู้เรียนเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ระบบอีเลินนิ่งประสบความสำเร็จ อีเลินนิ่งคือการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนใช้ทักษะด้านการอ่านอย่างเต็มที่ เพื่อเข้าถึงองค์ความรู้ที่ผู้สอนตั้งใจนำเสนอ ถ้านักเรียนให้เวลา หรือมีทักษะด้านการอ่านน้อย การเรียนรู้ผ่านระบบอีเลินนิ่งย่อมล้มเหลว ปัญหามักเกิดจากตัวนักเรียนที่ขาดวินัย และทักษะในการอ่าน
ผู้เขียนศึกษาเรื่องอีเลินนิ่งมาตั้งแต่ปี 2542 และจัดทำสื่อการสอนแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์มาอย่างต่อเนื่อง พบว่าเยาวชนไทยบางส่วนไม่สนใจศึกษาหาความรู้จากอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติมเลยถ้าไม่ถูกบังคับ แต่ให้ความสำคัญกับเว็บไซต์กลุ่มบันเทิงเพียงอย่างเดียว เช่น นักเรียนไม่สามารถเรียนต่อจนสำเร็จการศึกษาเพราะติดเกมออนไลน์ ข้อมูลสถิติการเข้าเว็บไซต์จาก truehits.net พบว่าคนไทยเข้าใช้เว็บไซต์กลุ่มการศึกษาเพียง 1.76 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อาจเป็นเพราะครูไทยไม่เป็นแม่พิมพ์อย่างที่ควร ปัจจุบันเราพบผลงานทางวิชาการของครูที่เผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ถ้าท่านเป็นประชาชนคนไทย คิดว่าควรทำอย่างไรให้ครูไทยเผยแพร่ผลงานเพื่อการศึกษามากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อบุตรหลาน และตัวท่านเอง