# 149 ความจำเป็นของโทรศัพท์สองซิม
11 สิงหาคม - 17 สิงหาคม 2551
เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็วรองรับความต้องการของมนุษย์ที่ไม่รู้จักพอเพียง หรือหาเหตุให้ต้องซื้อหามาเป็นของตน โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นอีกอุปกรณ์หนึ่งที่หลายคนบอกว่าเป็นปัจจัยที่ห้าที่ขาดไม่ได้ แต่เปลี่ยนรุ่นเปลี่ยนเบอร์ได้บ่อยเท่าที่ต้องการ มีประโยชน์อเนกอนันต์สามารถใช้แทนทีวี วิทยุเอฟเอ็ม ฟังเอ็มพีสาม เก็บแฟ้มข้อมูล รับข่าวสารบ้านเมือง ถ่ายวีดีโอคลิ๊ป ถ่ายรูป เปิดเว็บไซต์ ช่วยเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ใช้สนทนากับเพื่อน ส่งข้อความผ่านบลูทูธ (Bluetooth) หรืออินฟาเรท (Infrared) เก็บบันทึกนัดหมาย เล่นเกม พิมพ์งานเอกสาร ใช้กระดาษทำการ เป็นต้น โทรศัพท์บางรุ่นสามารถใช้ได้ 2 ซิม ผู้ใช้อาจมีความต้องการที่แตกต่างกันสองด้าน คือ ซิมหนึ่งไว้สำหรับติดต่อเรื่องงาน อีกซิมไว้ติดต่อเรื่องส่วนตัว ทำให้ไม่พลาดการติดต่อแม้สักนาที แต่สิ่งที่ลืมไม่ได้คือการพิจารณาความคุ้มค่าว่าสองซิม ก็คือค่าใช้จ่ายที่ตามมาเป็นสองเท่า ถ้าชั่งน้ำหนักความคุ้มค่าแล้วเป็นที่พอใจ การใช้สองซิมก็ย่อมจะสมเหตุสมผล
ความสามารถของโทรศัพท์มีมากมาย บางคนซื้อโทรศัพท์ราคากว่าสองหมื่นใช้เพียงรับสาย และโทรออกเท่านั้น บางคนก็ใช้โทรศัพท์อย่างคุ้มค่าคือใช้เกือบทุกหน้าที่ พกซิมไว้หลายเบอร์ สามารถรับโทรศัพท์ได้ทั้งวัน จดบันทึกข้อมูลในโทรศัพท์อยู่เสมอ เปิดเว็บไซต์หาข้อมูล เล่นเกม ถ่ายรูป ถ่ายวีดีโอ ดูภาพยนต์ ดูทีวี ฟังเพลง ดาวน์โหลดเพลง ที่น่าสังเกตคือยิ่งใช้เวลากับโทรศัพท์มากเพียงใด ย่อมทำให้เวลาที่เหลือให้กิจกรรมอื่นลดน้อยลง เช่น เวลาที่ต้องทำงาน อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย ทำงานบ้าน หรือให้เวลากับคนในครอบครัวลดลง แนวโน้มในปัจจุบันจะมีโทรศัพท์รุ่นใหม่มาให้เลือกเพิ่มขึ้น ร้านขายโทรศัพท์ผุดขึ้นทุกมุมเมือง ราคาโทรศัพท์ลดลง ผู้ผลิตพัฒนาโทรศัพท์ตลอดเวลา เพราะผู้ใช้มีความต้องการ ซึ่งสวนทางกับยุคน้ำมันแพง แต่ยอดขายโทรศัพท์มิได้ตกตามกันไป
เทคโนโลยีมากมายถูกพัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่มนุษย์ ทุกคนเลือกซื้อหามาใช้ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไปตามวิจารณญาณ เช่น ใช้ตามแฟชั่น ใช้เพื่อเข้าสังคม ใช้อำนวยความสะดวก เป็นสิ่งจำเป็นต่อการทำงาน หรือการศึกษา วัยรุ่นหรือวัยเรียนเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง แม้หารายได้ด้วยตนเองไม่ได้แต่ก็มีผู้ปกครองจัดหาเงินทองมาให้ใช้จ่ายโดยง่าย เป็นพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผล แม้ภาครัฐพยายามนำเสนอปัญหาของการไม่ใช้ดุลพินิจเป็นที่ตั้งในการใช้จ่าย มีหน่วยงานมากมายพยายามแก้ปัญหาที่เกิดจากความไม่รู้จักพอเพียง มีความพยายามส่งเสริมให้ลดการแข่งขันกันทางวัตถุ แต่มนุษย์บางกลุ่มกลับไม่รู้สึกว่าสิ่งเหล่านั้นคือปัญหา บางทีจำเป็นต้องหลิ่วตาตามเมื่อเข้าเมืองตาหลิ่ว เพราะการชื่นชมทางวัตถุก้าวไปไกลจนยากจะหยุดยั้ง หยั่งรากลึกมาหลายชั่วอายุคน หรือเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ที่เป็นเช่นนี้กันแน่