# 165 ค่าไฟฟ้าจากเครื่องคอมพิวเตอร์
1 ธันวาคม - 7 ธันวาคม 2551
พฤติกรรมของมนุษย์เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีวิวัฒนาการ (Evolution) มีปรากฎการณ์ที่เกิดกับระบบเศรษฐกิจของมนุษย์ชาติเป็นระลอกที่เรียกว่าคลื่น โดยนายแอลวิน ทอฟเฟลอร์(Alvin Toffler) ผู้เขียนหนังสือคลื่นลูกที่สาม (Third Wave) เขามองว่าคลื่นลูกที่หนึ่ง (First Wave) เป็นช่วงที่มนุษย์ปฏิวัติระบบเศรษฐกิจของตนด้วยการทำ เกษตรกรรม ปัจจุบันคนแถวบ้านผมก็ยังเกษตรกรรมหาเลี้ยงชีพเช่นเดียวกับในอดีตและยังไม่เปลี่ยนแปลง คลื่นลูกที่สอง (Second Wave) เริ่มประมาณปีพ.ศ. 2300 ที่รู้จักใช้เครื่องมือ และสร้างสายการผลิต (Production Line) เพื่อผลิตสินค้าคุณภาพจำนวนมากพร้อมกัน เป็นการปฏิวัติระบบเศรษฐกิจด้วยการทำ อุตสาหกรรม ส่วนคลื่นลูกที่สาม (Third Wave) เป็นการปฏิวัติด้าน ข้อมูลข่าวสาร การสื่อสารโทรคมนาคม ที่เริ่มประมาณปีพ.ศ. 2498 จนเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ที่เรียกว่ายุคโลกาภิวัตน์ (Globalization)
คอมพิวเตอร์เครื่องแรกเกิดขึ้นปีพ.ศ.2489 คือ ENIAC = Electronics Numerical Integrator and Computer มีการพัฒนาเรื่อยมาตั้งแต่เครื่องเมนเฟรม เครื่องมินิคอมพิวเตอร์ เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ และเครื่องโน๊ตบุ๊ค ขนาดของเครื่องคอมพิวเตอร์ลดลง แต่ประสิทธิภาพสูงขึ้น จำนวนผู้ใช้ที่เข้าถึงเครื่องคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น สังคมเริ่มเปลี่ยนเป็นสังคมเครือข่ายข้อมูล ทุกคนเชื่อมต่อถึงกันผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ผู้ใช้ในบ้านเชื่อมต่อกันผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต อยู่ที่ทำงานก็เชื่อมต่อที่ทำงาน กลับบ้านก็ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้าน บางคนอยู่บนรถเมย์ก็ใช้เครื่องโน๊ตบุ๊ค เพราะไม่สามารถรอกลับไปเชื่อมต่อถึงใครต่อใครที่บ้านได้
ค่าไฟฟ้าจากเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นเท่าใดไม่สำคัญ เพราะค่าแอร์แสนแพงยังยอมจ่ายกันได้ ถ้าหันมาดูค่าไฟฟ้าจากเครื่องคอมพิวเตอร์สักนิด จะทราบว่า 1 เครื่องที่กินไฟฟ้าประมาณ 0.14 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง หากใช้งานวันละ 8 ชั่วโมงทั้งหมด 30 วัน และคิดค่าไฟฟ้ากิโลวัตต์ละ 3 บาท ก็จะมีค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละ 100.8 บาท ถ้าเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ในเวลาราชการทิ้งไว้ 10 เครื่อง ก็จะเสียค่าไฟฟ้าประมาณ 1008 บาทต่อเดือน ถ้าทั้งองค์กรตั้ง Power Options ใน Control Panel เพื่อปิดการใช้พลังงานอย่างสมเหตุสมผล ก็เชื่อว่าค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนจะลดลงอย่างแน่นอน และเรื่องนี้ต้องเกิดมาจากระดับนโยบายของผู้บริหาร คนเพียงคนเดียวในองค์กรทำไปก็คงไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างแน่นอน