ม็อบการเมืองกับโซเชียลมีเดีย
 
#426 ม็อบการเมืองกับโซเชียลมีเดีย

    ปลายปี 2556 ข่าวที่ร้อนแรงที่สุด คงหนีไม่พ้นม็อบการเมืองคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แล้วต่อด้วยการเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาแล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ ในสื่อเรียกว่าม็อบของชนชั้นกลาง แล้วมีกลุ่มปัญญาชนคืออธิการบดี และคุณหมอออกมาแสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมแบบสุดซอยหรือเหมาเข่ง ทำให้คนที่ผิดจริงก็จะได้รับการนิรโทษไปด้วย คนที่ยังนิยมชมชอบรัฐบาลก็มีอยู่มากมาย เพราะมีนโยบายและโครงการที่ส่งผลประโยชน์ยังคั่งค้าง แล้วส.ส.เกินครึ่งที่มีอิทธิพลในพื้นที่ก็เป็นคนของรัฐบาลที่ยกมือเห็นชอบกฎหมายเหล่านั้น

    ภาพการชุมนุมถูกเผยแพร่ออกไปอย่างแพร่หลายผ่านสื่อโซเชียลมีเดียทั้ง facebook.com, twitter.com และ youtube.com แล้วยังมีความแพร่หลายของทีวีดาวเทียมที่มีให้เลือกชมกว่า 200 ช่อง ก็มีหลายช่องนำเสนอบรรยากาศการชุมนุมปราศรัย หากแยกหลักคิดที่แต่ละกลุ่มใช้ยึดถือก็จะได้ 2 หลักใหญ่ที่ชัดเจนคือ หลักความยุติธรรมที่ยึดว่าผิดก็ต้องว่าไปตามผิด จึงไม่ยอมให้เปลี่ยนจากคนผิดเป็นคนไม่ผิดด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรม และหลักประชาธิปไตยที่ยอมให้เสียงข้างมากเป็นผู้ตัดสินใจ เนื่องจากทั้งสองหลักมีเหตุผลสนับสนุน ทำให้ปัจจุบันมีนักวิชาการ และนักคิดออกมายืนยันความชอบธรรมของทั้งสองฝ่าย จนแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างที่เป็นอยู่

    โซเชียลมีเดียกลายเป็นเครื่องมือสำคัญ เพราะการแบ่งปันเรื่องราวสามารถทำได้ง่ายโดยใครก็ได้ และไม่มีการกลั่นกรองเนื้อหาเหมือนสื่อหลัก เช่น ทีวี หรือหนังสือพิมพ์ แต่ละฝ่ายต่างหยิบยกจุดบกพร่องของอีกฝ่ายมานำเสนอ ซึ่งจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่ผู้รับสารผ่านเครือข่ายสังคมก็จะมีทั้งที่รับแล้วเชื่อ รับแล้วคิดไต่ตรอง กับรับแล้วแบ่งปันต่อพร้อมกับเพิ่มทัศนคติส่วนตัว การใช้ข้อความ ภาพ หรือคำพูดกล่าวถึงฝ่ายตรงข้ามยิ่งหยาบคายหรือเป็นลบก็จะได้การแชร์ต่ออย่างแพร่หลาย ถูกกดไลค์ และเพิ่มความคิดเชิงลบก็จะทวีจำนวนขึ้น แต่กระแสนี้เกาะติดกับชนชั้นกลาง เพราะเด็ก นักเรียน นักศึกษา ชาวบ้าน และผู้ที่ไม่คิดจะมีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องทางการเมืองก็จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้เลยก็มีอีกมาก
บทความเมื่อเร็ว ๆ นี้
427. บันทึกของชาวโลกที่เปลี่ยนไป
426. ม็อบการเมืองกับโซเชียลมีเดีย
425. ไอพีทีวีของทีโอที
424. เครื่องบริการกลุ่มเมฆ
ค้นในบทความ
กลับหน้าแรก
Thaiall.com