#573 ที่มาของห้องเรียนในอนาคต
ได้อ่านหนังสือห้องเรียนแห่งอนาคต เปลี่ยนครูให้เป็นโค้ช เขียนโดย ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ และครูกมลรัตน์ ฉิมพาลี หากต้องจินตนาการห้องเรียนที่เหมาะสมและจะถูกใช้ในอนาคตก็มักมองหาแนวโน้มที่ใช้ข้อมูลจากอดีตและปัจจุบัน ซึ่งการศึกษาในกระแสโลกมีหลายรูปแบบ และเรามักดูแนวปฏิบัติที่ดีระดับประเทศหรือโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ (Good Practice) เป็นที่ยอมรับกันว่าอินเทอร์เน็ตเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของมนุษย์ และการใช้อินเทอร์เน็ตในห้องเรียนแห่งอนาคตก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก่อนหน้านี้ภาครัฐแจกอุปกรณ์ให้นักเรียน ป.1 ต่อมาก็ขยายการติดตั้งจุดบริการอินเทอร์เน็ตฟรีเพิ่มขึ้น (Free Wi-Fi) แล้วเปลี่ยนจากศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชนเป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชน
มีระบบการศึกษาที่ถูกลองใช้ พัฒนา วิจัย และนำเสนอว่าได้ผลในหลายรูปแบบ หากแบบใดได้รับการยอมรับก็จะกลายเป็นรูปแบบที่จะถูกนำไปใช้ในห้องเรียนแห่งอนาคต ซึ่งระบบการศึกษาจะเป็นอย่างไรต้องผ่านการกำกับติดตามโดยภาครัฐ แล้วในปี 2559 ได้มติ ครม. เห็นชอบแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่เน้นการใช้เทคโนโลยี พบว่าสนใจเรื่องการใช้มุกในระบบการศึกษา (MOOC : Massive Open Online Course) ปัจจุบันภาครัฐสนับสนุนการทำคลิ๊ปวีดีโอสอนหนังสือผ่านเว็บไซต์ dlit.ac.th คือ คลังเครื่องมือที่มีเนื้อหาและเทคโนโลยีสำหรับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างครบวงจร มีบริการหลายรูปแบบ อาทิ คลังสื่อการสอน (DLIT Resources) ที่ถ่ายทอดการสอนเป็นคลิ๊ปสอนหนังสือโดยครูต้นแบบจากโรงเรียนชั้นนำไปยังห้องเรียนปลายทาง สนับสนุนห้องเรียนที่มีครูปลายทางไม่ตรงกลุ่มสาระการเรียนรู้ หรือเป็นหัวข้อที่ยากในการสอน
การสอนรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจแบบหนึ่ง คือ การสอนแบบห้องเรียนกลับด้าน (Flipped Classroom) ถูกใช้แล้วที่โรงเรียน Clintondale High School ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งโรงเรียนนี้ไม่ใช่โรงเรียนชั้นนำ เมื่อใช้รูปแบบใหม่ที่มีหลักสำคัญว่าเรียนที่บ้าน ทำการบ้านที่โรงเรียน ทำให้การสอนในห้องเรียนต้องเน้นการสอนแบบสร้างสรรค์ที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียน พบว่าผลการเรียนดีขึ้น และกลายเป็นโรงเรียนต้นแบบด้านนี้ มีสถาบันการศึกษาเข้าดูงานมากมาย ในระดับอุดมศึกษามีการพัฒนาหลักสูตรที่ใช้ MOOC บางหลักสูตรพัฒนาเป็นหลักสูตรสำหรับบุคคล (Personalized Curriculum) ที่ผู้เรียนเลือกเรียนในวิชาที่ตนสนใจด้วยตนเองได้
|