#591 เล่นเกมกับเขียนโค้ดเชื่อมกันได้
มีความพยายามพัฒนาการศึกษาให้การเล่น (Play) กับการเรียน (Learn) เชื่อมโยงกัน ในการเขียนโปรแกรม (Programming) กับการเล่นเกม (Game) ก็เช่นกัน มีการพัฒนาเว็บไซต์ให้เยาวชนได้เข้าไปเล่นเกมเขียนโปรแกรมหรือเขียนโค้ด (Coding) มีนักเรียนจำนวนไม่น้อยมีความสุขกับการเล่น เมื่อเล่นได้ทั้งวัน ก็จะเรียนรู้ได้ทั้งวัน ทำให้การศึกษาก้าวหน้าไปเร็วขึ้น ในการเรียนวิทยาการคอมพิวเตอร์ก็เช่นกัน มีการสร้างเว็บไซต์สนับสนุนการสอนเขียนโค้ด ด้วยการใช้เกม และฝึกการสั่งงานเกมอย่างเป็นขั้นตอน (Step) ให้ตัวละครในเกมทำงานตามสั่งอย่างมีเป้าหมาย ในอเมริกามีโรงเรียนนำบทเรียนการเขียนโปรแกรมเข้าไปสอนนักเรียนกันแล้ว
เกม กับการเขียนโค้ดต่างกันอย่างไร ทั้งสองอย่างมีส่วนที่เหมือนกัน คือ การปฏิบัติให้บรรลุตามพันธกิจ (Mission) สำหรับการเขียนโค้ดมี 3 หลักเบื้องต้ น คือ การทำงานตามลำดับ การเลือก และการทำซ้ำ ซึ่งในเกมก็มีเหมือนกัน แต่ที่แตกต่างกัน คือ ในการเขียนโค้ดจะต้องมีทักษะการใช้คำสั่งที่มีจำนวนมากมาย มีความเข้าใจลำดับก่อนหลังของคำสั่ง มีบริการสร้างคำสั่งขึ้นใหม่ด้วยคำสั่งที่มีอยู่ มีเวลาไตร่ตรองเลือกคำสั่งหรือสร้างขึ้นใหม่เพื่อใช้งาน มีทางเลือกแยกกระทำ และทุกทางมีประโยชน์ต่างกัน มีการทำซ้ำที่แต่ละรอบต่างกันในค่าของตัวแปร มีการวางแผนตั้งแต่ต้นจนจบแล้วจึงเริ่มเล่น มีสิทธิ์กำหนดแผนการเล่นได้ตามต้องการ ซึ่งเกมส่วนใหญ่มักไม่มีสิ่งเหล่านี้
ในเยาวชนที่ติดเกม ก็มีส่วนหนึ่งที่ไม่ติดเกมเกี่ยวกับการเขียนโค้ด ไปติดเกมสมมติบทบาท ติดเกมยิง หรือติดเกมพจญภัย แต่อยากเป็นนักเขียนโปรแกรม เพราะชอบเล่นเกม เมื่อเข้าเป็นนักศึกษาในหลักสูตรที่สอนเขียนโปรแกรม จำเป็นต้องจำคำสั่งจำนวนมาก ฝึกทักษะการใช้คำสั่ง ต้องวางแผนการเล่นตั้งแต่ต้นจนจบก่อนเริ่มเล่น ต้องสร้างตัวแปรใช้งาน และควบคุมด้วยตนเองทั้งหมด มีเรื่องเครื่องบริการ อุปกรณ์ ภาษาโปรแกรม และฐานข้อมูลที่ต้องควบคุมให้ทำงานร่วมกัน ซึ่งจะทราบในเวลาต่อมาว่าการเขียนโค้ดไม่ง่ายเหมือนการเล่นเกม และอาศัยทักษะที่แตกต่างกันไม่น้อย หากนักเรียนท่านใดสนใจจะเขียนโค้ด เพราะชอบเล่นเกม ก็ควรเข้าไปเล่นเกมเขียนโค้ดในเว็บไซต์ที่เปิดให้บริการ จนแน่ใจว่าการเขียนโค้ดเป็นสิ่งที่ชอบ ก่อนเลือกเรียนในหลักสูตรที่มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตออกมาเขียนโค้ดสั่งงานคอมพิวเตอร์
|