#606 ไทยแลนด์เข้าสู่ยุคนวัตกรรม
หากพูดถึงไทยแลนด์ 4.0 ก็คงไม่ใช่เรื่องใหม่ในพุทธศักราชนี้ เพราะมีการปรับใช้ในหลายวงการแล้ว มีการกระตุ้น และสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง สิ่งหนี่งที่ต้องเข้าใจในการเข้าสู่ยุคนวัตกรรม คือ เรายังไม่ทิ้งเกษตรกรรม ยังไม่ทิ้งอุตสาหกรรมเบา หรืออุตสาหกรรมหนัก แต่จะเพิ่มสัดส่วนของนวัตกรรมให้มากขึ้น เช่นเดียวกับที่ทุกประเทศในโลกพยายามยกระดับกันอยู่ การลงแรงน้อยแต่ได้ผลผลิตมากไม่ใช่ความฝันของใครคนหนึ่ง แต่เป็นความฝันของทุกคนมาตลอด เราจะไม่เลิกปลูกข้าว ปลูกกล้วย ปลูกทุเรียน ปลูกเผือก หรือปลูกมัน แล้วภาครัฐก็ยังสนับสนุนการสร้างรถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน เรือดำน้ำ ยานอวกาศไปตามกำลังของนักลงทุนเช่นเดิม
ในนิยามของนวัตกรรมที่ลงแรงน้อยแต่ได้มากจะต้องใช้เทคโนโลยี ซึ่งเลี่ยงไม่ได้ที่จะมองไปในกลุ่มคนที่สำเร็จการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเป็นกลไก แต่จากกระแสความสำเร็จด้านเทคโนโลยีในชีวิตจริง พบว่า ปัจจัยด้านบุคลากรระดับผู้นำมีความสำคัญสูงสุด เรารู้จัก แจ็ก หม่า ที่เป็นคนจีนแล้วจบด้านภาษาอังกฤษ กับ สตีฟ จ๊อบ ที่ไม่จบอะไรเลย แต่ทุกคนพูดถึงความเป็นนักนวัตกรรม ส่วนคุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ เจ้าของ tarad.com ก็สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าวิสัยทัศน์มีความสำคัญต่อการสร้างนวัตกรรมมากกว่าวุฒิการศึกษา ปัจจุบันประเทศไทยยังต้องการผู้นำที่มีวิสัยทัศน์เชิงนวัตกรรมอย่างมาก อย่างน้องต้องใช้เทคโนโลยีเป็น
เทคโนโลยีในปัจจุบันนั้น ผู้บริหารจำเป็นต้องรู้แบบงูงูปลาปลาบ้าง ส่วนนักคอมพิวเตอร์ก็จำเป็นต้องมีประสบการณ์แบบเคยสัมผัสหรือเคยพัฒนามาบ้าง ก่อนจะก้าวเข้าสู่โลกของนวัตกรรม คือ คลาวด์ อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง โมบายแอพพลิเคชั่น สตาร์ทอัพ พรบ.คอมฯ พร้อมเพย์ การเข้าร่วมเป็นเครือข่ายกับภาครัฐก็จะทำให้มีกำลังสนับสนุนมากขึ้น อาทิ ประชารัฐ ประเทศไทย 4.0 หรือการร่วมลงทุนกับบรรดาสตาร์ทอัพ ในความเป็นจริงของการประกอบธุรกิจนั้น ในระหว่างที่ดั้นด้นจะหาทำนวัตกรรม หากมองเห็นช่องทางอื่นระหว่างการมองหานวัตกรรมก็ไม่ควรละทิ้งไป โอกาสงามในโลกของการลงทุนยังรออยู่ นวัตกรรมอาจต้องใช้เวลาลองผิดลองถูก และมีความเสี่ยงอยู่มาก ตามสถิติแล้วกลุ่มสตาร์ทอัพในต่างประเทศล้มเหลวไม่น้อย มีตัวอย่างทั้งที่ความสำเร็จจริง และไม่ยั่งยืนก็มี สามารถหาอ่านได้จากสื่ออินเทอร์เน็ตเสมอ
|